เครื่องสี
เครื่องสีเป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทยเรียกว่า ซอ ซึ่งมีอยู่ ๓ ชนิด ด้วยกัน คือ
1.ซอด้วง
ซอด้วง เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ให้เสียงสูงแหลม การที่ได้ชื่อนี้เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง มีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน รูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งบางทีทำด้วยงาช้าง ไม้ที่ใช้ทำต่างชนิดกันจะให้คุณภาพเสียงต่างกัน เช่น เสียงนุ่ม เสียงกลม เสียงแหลม เป็นต้น ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิด นิยมใช้หนังงูเหลือม นอกนั้นอาจเป็นหนังลูกวัว หนังแพะ หรือใช้กระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้ - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกตั้งตรงขึ้นไป แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน รูปร่างคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ปลายโอนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ช่วงล่วงนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า "ทวนล่าง" - ลูกบิด มีอยู่สองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ ลูกบิดลูกบน สำหรับสายเสียงต่ำ เรียกว่า ลูกบิดสายทุ้ม ลูกบิดลูกล่าง สำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า ลูกบิดสายเอก - รัดอก เป็นบ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้งสองเข้ากับทวนล่าง - หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนสายซอให้พ้นขอบกระบอก และเป็นตัวรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปสู่หน้าซอ - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ ๒๕๐ เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี การเทียบเสียง เทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออ ทั้งสายเอกและสายทุ้ม โดยใช้สายเอกเป็นหลัก
2.ซอสามสาย
ซอสามสาย เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย มีมาแต่โบราณ มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล รูปร่างวิจิตรสวยงามกว่าซอชนิดอื่น ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนัก มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามด้านขวาง ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง เดิมนิยมใช้ไม้สักเรียกว่า "ขนงไม้สัก" มีรูปร่างคล้ายกรอบหน้านาง ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาให้ตึงพอดี - คันซอ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ทวนบน ทวนกลาง และทวนล่าง ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอบต่อเหนือรัดอกขึ้นไป ทวนกลาง คือ ส่วนต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลก ลงไปรวมทั้งเข็มที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งอยู่ปลายล่างสุด - ลูกบิด มีสามลูก ลูกล่างสำหรับสายเอก ลูกบนสำหรับสายกลาง สองลูกนี้อยู่ทางขวา ทางซ้ายมีลูกเดียว สำหรับสายทุ้ม หรือสายสาม - รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวแบบสายซอ พันรอบทวนกลาง ใช้รัดสายทั้งสาม ให้แนบเข้ากับทวนกลาง เพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวาน - หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้งสามสาย บนหย่องบากร่องไว้ สามตำแหน่ง เพื่อรองรับสายซอ - ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่ว เพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ชันปิดหน้า ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม - หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ผูกเป็นสายบ่วง ร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่าง เพื่อรั้งปมปลายสายซอทั้งสาม - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียว กลึงให้ได้รูป ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ เส้น
3.ซออู้
ซออู้ เป็นซอที่มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายซอด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้ว ให้พูทั้งสามอยู่ด้านบน ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะ ขึงเป็นหน้าตรงที่ตัด - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึง แบ่งเป็นสองส่วน คือ ทวนบน นับตั้งแต่ลูกบิด ไปถึงปลายคัน ทวนล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงมาที่ตัวคันมีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะ ปลายทวนล่างสอดทะลุ กะโหลกลงไป เพื่อคล้องสายซอทั้งสองเส้น -ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ทวนบน ใช้ขึงสายซอ ซึ่งทำให้ด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว หรือทำด้วยเอ็นผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ลูกบนสำหรับสายทุ้ม ลูกล่างสำหรับสายเอก - รัดอก เป็นบ่วงเชือกใช้ลูกล่างสำหรับสายเอกรั้งสายซอ เพื่อให้ได้คู่เสียงสายเปล่าชัดเจน - หมอน เป็นวัสดุที่วางหมุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อให้ได้เสียงกับวาน บางทีเรียกว่า หย่อง - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้รูป ขึงเส้นหางม้า ประมาณ ๒๕๐ เส้น เส้นหางม้านี้จะสอดเข้าระหว่าง สายเอกกับสายทุ้ม การเทียบเสียง สายเอกมีระดับเสียงตรงกับสายทุ้มของซอด้วง สายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น